สินเชื่อส่วนบุคคล หรือเงินกู้นั้น ได้มีขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ตามที่ผู้กู้ต้องการนำเงินไปใช้ ทำให้เป็นทางเลือกให้ใครหลายคนได้มีโอกาสทำตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นกู้เพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อคอนโด หรือนำไปลงทุนทางธุรกิจ แต่การจะกู้เพื่อนำเงินสินเชื่อมาใช้นั้น สิ่งหนึ่งที่ควรจะต้องรู้ก่อนทำการกู้เลยก็คือ เรื่องของอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากดอกเบี้ยของสินเชื่อนั้นมีหลายรูปแบบ เราจึงควรศึกษาอย่างละเอียดและรอบคอบเพื่อการการวางแผนได้อย่างคุ้มค่า เรามาทำความรู้จักกับดอกเบี้ยเงินกู้ให้มากขึ้นกันดีกว่า
ดอกเบี้ยเงินกู้คือผลตอบแทนที่ผู้ให้กู้จะเรียกเก็บเรา โดยอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในลักษณะการคำนวณแบบร้อยละต่อปี ซึ่งดอกเบี้ยจะมีหลายประเภท หลายอัตรา ขึ้นอยู่กับประเภทของเงินกู้หรือสินเชื่อนั้น โดยธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เป็นผู้ให้กู้จะเป็นคนกำหนด การคิด ดอกเบี้ยเงินกู้ ที่พบได้บ่อยจะมีอยู่ 3 แบบตามประเภทสินเชื่อ คือ
- อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed Rate)คืออัตราดอกเบี้ยที่มีการกำหนดไว้ตายตัวตามที่ตกลงกัน ณ วันที่ให้สินเชื่อ โดยจะคิดแบบอัตราคงที่เท่ากันในแต่ละเดือนไปตลอดระยะเวลาการให้สิ้นเชื่อ ตัวอย่างสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ได้แก่ สินเชื่อรถยนต์ ซึ่งเงินต้นและดอกเบี้ยในแต่ละงวดที่เราต้องจ่าย จะคงที่ตลอดระยะเวลาที่กู้ เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ 5% ต่อปี มีระยะเวลาในการผ่อนชำระคืน 10 ปี นั่นแปลว่าเราจะต้องเสียดอกเบี้ย 5% นี้ไปตลอดระยะเวลา 10 ปีนั่นเอง
- อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) คืออัตราดอกเบี้ยที่คำนวณจากการที่เราผ่อนหรือชําระในแต่ละงวดนั้น เงินต้นคงเหลือที่นำมาคำนวณดอกเบี้ยก็จะยิ่งน้อยลง และเมื่อเงินต้นลดน้อยลง ดอกเบี้ยก็จะถูกลงตามไปด้วย เช่น กู้เงินมา 100,000 บาท เมื่อชำระงวดแรกไปแล้ว 10,000 บาท ดอกเบี้ยที่จะคิดในงวดถัดไปก็จะคำนวณจากเงินต้น 90,000 บาทนั่นเอง ซึ่งดอกเบี้ยประเภทนี้จะเป็นดอกเบี้ยของสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรกดเงินสด
- อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating Rate)คืออัตราดอกเบี้ยจะเปลี่ยนแปลงไปตามประกาศของสถาบันการเงิน ซึ่งจะมีการปรับขึ้นลงตามสภาพเศรษฐกิจ และอัตราที่เปลี่ยนแปลงนี้นั้น ก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการเงินอีกด้วย มักจะพบดอกเบี้ยประเภทนี้ในการกู้สินเชื่อบ้าน โดยทั่วไปสถาบันการเงินจะใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบMLR MOR และ MRR ทั้ง 3 ประเภทนี้จะมีความแตกต่างกันดังนี้
- MLR (Minimum Loan Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ ที่มีประวัติการเงินดี มีความพร้อมในการชำระหนี้ และมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้สำหรับสินเชื่อเงินกู้ระยะยาว เช่น สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ
- MOR (Minimum Overdraft Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ ที่มีประวัติการชำระเงินดี ประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี ซึ่งดอกเบี้ยชนิดนี้จะถูกคำนวณเมื่อเราได้เบิกวงเงินมาใช้ และอัตราดอกเบี้ยก็จะคิดแค่จากเงินส่วนนั้น และเมื่อเราจ่ายเงินต้นคืน ดอกเบี้ยก็จะหยุดคิดทันที แต่อัตราดอกเบี้ยก็จะสูงกว่าชนิดอื่น จึงเหมาะกับสินเชื่อที่เสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ
- MRR (Minimum Retail Rate) คือ อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อย เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบัตรเครดิต โดยเป็นดอกเบี้ยที่ใช้กับคนทั่วๆ ไปที่มีประวัติการชำระเงินดี แต่อัตราดอกเบี้ยมักจะสูงกว่าแบบ MLR
นอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยข้างต้นแล้ว ยังมีอัตราดอกเบี้ยอื่น ๆ อีก เช่น MHR หรือ HLR ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเคหะสำหรับลูกค้าชั้นดี ที่ทางแบงค์ชาติไม่ได้มีการกำหนดว่าแต่ละธนาคารจะต้องมีแค่ MLR, MRR หรือ MOR เท่านั้น ทำให้ธนาคารสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใดก็ได้ เพียงแต่ต้องให้คำจำกัดความที่ชัดเจน
และทั้งหมดนี้ก็คืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากสินเชื่อต่าง ๆ ที่เราจะต้องพบเจอ ซึ่งก่อนที่เราจะตัดสินใจกู้ เราสามารถพิจารณาและเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยเหล่านี้ได้จากธนาคารหรือสถาบันการเงิน เพราะแต่ละที่จะไม่เท่ากัน ที่สำคัญอย่าลืมเช็คสภาวะการเงินของตนเองด้วยว่า เราพร้อมที่จะเป็นหนี้ และสามารถรับภาระหนี้ที่จะตามมาได้หรือเปล่า เพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดี และไม่เป็นหนี้จนหัวโต